การทำแผลเก่าในห้องอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน พบได้บ่อยครั้งทั้งแผลขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ มีผู้ป่วยหลายรายได้แวะเวียนผ่านเข้ามาและจากไป แต่ทว่ายังคงมีลูกค้าขาประจำซึ่งยังคงมาทำแผลกันอยู่เสมอมา เท่าที่สังเกตุเห็นมักพบว่ามีแผลเรื้อรังบริเวณเท้า และมีโรคประจำตัวคือเบาหวาน นับย้อนเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้จบการอบรมหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ จากคณะแพทย์ศาสตร์ม.มหิดล และได้มาปฎิบัติงานอยู่เวรบ่าย - ดึก ในแต่ละวันที่ได้พบเจอผู้ป่วยเหล่านี้ ข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่เสมอว่า จะมีวิธีใดบ้างนะ ที่จะช่วยให้การดูแลพยาบาล ให้แผลของคนไข้เหล่านี้หายเร็วขึ้นกว่าเท่าที่ได้ทำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้กลับไปสู่ภาวะปกติสุขเหมือนเช่นเมื่อก่อน
จนเมื่อโรงพยาบาลของเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปดูงาน R2R ของพรพ. ที่เมืองทองธานี และข้าพเจ้าก็เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งได้รับเกียรติให้ไปดูงานกับหมู่คณะโรงพยาบาลแก่งคอยด้วย ในงานนี้ข้าพเจ้าได้พบกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากความตั้งใจดี + ความหวังดี ของบุคคลสาธารณสุข ที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและใจสำหรับการศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาพัฒนางานประจำ แก้ปัญหาหน้างาน และเกิดผลประโยชน์กับผู้ป่วย ข้าพเจ้าได้รับฟังการบรรยายและเข้ากลุ่มอภิปรายเกี่ยวกับ R2R กับโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยที่ตัวเองมีความรู้และความเข้าใจเพียงเล็กน้อย แต่ก็พอจะทำความเข้าใจและจับหลักการมาได้บ้าง ซึ่งก็คือ จากปัญหาหน้างาน นำมาสู่กระบวนการแก้ปัญหาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ และนำการทำ R2R มาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นๆ
เมื่อกลับมาปฏิบัติงาน ณ. ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ก็พบปัญหาที่ค้างคาใจของข้าพเจ้าตลอดมานั่นคือ ผู้ป่วยแผลเบาหวานที่เท้ามาทำแผลและแผลเกิดลุกลามมากขึ้น สภาพที่ข้าพเจ้าเห็นนั้นคือหญิงวัยชราผิวขาวผมซอยสั้นสะพายกระเป๋าใบเล็ก ๆ สีม่วงของธนาคารไทยพานิชย์ นั่งรถเข็นเข้ามาทำแผลที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินเป็นประจำ ใบหน้าของเธอดูอิดโรยและหงุดหงิด เวลาที่มาถึงห้องฉุกเฉิน เธอจะไม่ยอมขึ้นบนเตียง เพื่อให้พยาบาลทำแผลแต่จะวางเท้าบนที่เหยียบเท้า ซึ่งพยาบาลแต่ละคนก็จะทำแผลตามประสบการณ์ที่ตนเองมี สำหรับตัวข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อน ๆ ส่งต่อกันถึงผู้ป่วยรายนี้ ในวันแรกที่เห็นผู้ป่วย ข้าพเจ้าคิดว่าเป้าหมายคือ ในคราวหน้าคนไข้ควรขึ้นบนเตียงนอนเพื่อทำแผล ซึ่งจะสะดวกทั้งพยาบาลและผู้ป่วย การดูแลแผลก็จะง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเสริมพลังอำนาจการดูแลตนเองให้กับผู้ป่วยทางอ้อม ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเริ่มสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย โดยสอบถามการคุมอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือด ชีวิตประจำวัน ตลอดจนทัศนคติความเชื่อ สำหรับคุณป้าสุนีย์จะมีปัญหาการคุมอาหาร สำหรับความรู้ความเข้าใจการดูแลตนเองมีเพียงพอ แค่ขาดการปฏิบัติตามและเนื่องจากเคยพบเห็นผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและถูกตัดขา ต่อมาเสียชีวิตลง จึงคิดว่าเป็นตายอย่างไรก็จะไม่ยอมตัดอวัยวะใด ๆ เป็นอันขาด ก่อนหน้านี้คุณป้าสุนีย์ไปแวะทำแผลที่โรงพยาบาลสระบุรี เนื่องจากไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่ป่วย จากนั้นแพทย์ให้นอนโรงพยาบาลและทำการตัดนิ้วหัวแม่เท้าซ้ายออก ซึ่งสร้างความมาพอใจให้กับคนไข้มาตลอด คุณป้าบอกว่า “ หมอไม่เคยถามเลยว่าจะยอมให้ตัดนิ้วหรือเปล่า อยู่ก็มาตัดนิ้วโป้งของป้าออกไป ป้าไม่ไปแล้วรพ. สระบุรี ” หลังจากนั้นคนไข้ได้มาทำแผลที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินเรื่อยมา ซึ่งแผลก็ไม่มีแนวโน้มจะแคบลงเลย ระยะเวลาทำให้เรามีความคุ้นเคยกันหลังจากนั้นเวลาคุณป้าสุนีย์มาทำแผล ก็จะมีขนมหรือกับข้าวมาฝากพยาบาลเสมอรวมถึงคนงานในเวรนั้นด้วย ซึ่งพวกเราไม่เคยคิดหวังสิ่งตอบแทนจากคุณป้าเลย บางครั้งดิฉันก็ชวนคุณป้าทำบุญด้วยกัน ซึ่งคุณป้าก็ยินดี ช่วงระยะเวลาจาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน จวบจนเป็นปี แผลของคุณป้าก็ยังไม่ดีขึ้นเลย ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตถ่ายรูปเก็บภาพแผลเอาไว้ และพยายามค้นหาความรู้จาก Internet เท่าที่พอจะมีเวลาสืบค้นได้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากดั่งใจคิด สิ่งที่ทำได้คือแนะนำทางเลือกในการรักษาแผลเบาหวานที่เท้าโดยไม่ตัดอวัยวะ นั่นคือ แนะนำสถานที่ซึ่งมีการรักษาโดยใช้การฉีดยาของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคุณป้าก็ได้ไปรักษาหมดค่าใช้จ่ายไปตั้งหลายหมื่นบาท สุดท้ายทราบว่าแพทย์จะทำการเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดและต้องผ่าตัดหลอดเลือด แต่คุณป้าปฏิเสธการรักษาเพราะสงสารลูกสาวที่ต้องใช้เงินมาก และอยากเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาของหลาน ๆ ช่วงระยะหลังนี้คุณป้าสุนีย์ยอมเปลี่ยนจากการนั่งรถเข็นเป็นขึ้นบนเตียงเพื่อทำแผล บางครั้งแพทย์ก็ให้ Admitted เพื่อฉีดยาฆ่าเชื้อในช่วงที่แผลมีลักษณะไม่ดี เป็นแบบนี้ 2-3 ครั้ง และพอดีกับทางรพ.ให้แต่ละหน่วยงานทำ R2R ข้าพเจ้าก็คิดว่าน่าจะเลือกทำเรื่องนี้และเริ่มหาข้อมูลเท่าที่เวลาพึงมี
ช่วงต้นปีใหม่ทางบ้านคุณป้ามี Order สั่งอาหารมาก คุณป้าได้ช่วยบุตรสาวในการทำอาหาร บางครั้งแผลของคุณป้าจะมีกลิ่นเหม็นอับ และเปียกชื้น ข้าพเจ้าได้ให้คำแนะนำการปฎิบัติตัวในการดูแลบาดแผลที่ถูกต้องให้ทราบ แต่แผลก็ไม่ดีขึ้นเลย แผลเปื่อย ยุ่ย สีดำ นิ้วเท้างองุ้มผิดรูป ดูคุณป้าเริ่มปลงและท้อแท้กับการหายของแผล พอดีมีโครงการบวชพระ 100,000 รูป ข้าพเจ้าได้ชวนคุณป้าทำบุญ ซึ่งคุณป้าแสดงมุฑิตาจิตของเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเพลพระในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 แต่แล้ว 1 สัปดาห์ก่อนทำบุญ ข้าพเจ้าได้ทราบว่าคุณป้าได้มา Admitt ที่โรงพยาบาลเพราะแผลไม่ดีจึงเข้าไปคุยด้วย คุณป้าบอกว่า “ ถ้าคุณหมอจะตัดเท้าก็ยอม แล้วแต่คุณหมอจะรักษา ” วันต่อมาทราบว่าได้ Refer คุณป้าไปโรงพยาบาลสระบุรี และ 1 วันก่อนไปถวายเพลพระ ข้าพเจ้าทราบข่าวจากบุตรสาวคุณป้าว่าหลังจากการผ่าตัดอาการไม่ดีขึ้น แพทย์ได้ช่วยทำ CPR แล้วแต่คุณป้าสู้ไม่ไหว........ ซึ่งก่อนเสียชีวิต คุณป้าได้สั่งกำชับบุตรสาวว่า “ให้ไปถวายเพลพระตามที่คุณหมอชวนไว้ให้ได้ แม่ตั้งใจทำบุญนี้มาก ” ดิฉันอึ้งไปแต่ก็พูดปลอบใจบุตรสาวของคุณป้าว่า “ คุณป้าไปสบายแล้ว อย่าให้แกต้องกังวลใจ ให้ตั้งสติอย่าร้องให้ฟูมฟายทุกคนมีความเสียใจที่ป้าจากไป นับเป็นบุญของป้าที่ได้ทำบุญแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตและนับว่าประเสริฐยิ่งที่ได้มีลูกกตัญญูแบบนี้ เวลาไปทำบุญให้นึกถึงแกตลอด แกจะได้มีบุญเป็นที่พึงในสัมปรายภพ ” บุตรสาวของคุณป้ากล่าวขอบคุณข้าพเจ้า และในวันรุ่งขึ้นเมื่อข้าพเจ้าลงเวรดึกก็ได้ตามไปทำบุญกับครอบครัวของคุณป้าด้วย ทุกคนในครอบครัวมากันพร้อมหน้าพร้อมตาและตั้งใจรับบุญกันเต็มที่ สำหรับลูกสาวคุณป้าบางคราวก็จะมีน้ำตารื้นขึ้นมาบ้างในบางครั้ง แต่ดูแล้วเธอมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่แม่ได้สั่งไว้................แม้เป็นครั้งสุดท้าย
เนื่องจากหน่วยงานทำการประชุมและตกลงเปลี่ยนหัวข้อในการทำ R2R เพราะเป้าหมายคือคนไข้แผลเบาหวานที่เท้าเสียชีวิตลง พี่ในที่ทำงานถามว่า “ ตอนนี้หน่วยงานเปลี่ยนหัวข้อการทำ R2R ไปแล้วและคนไข้เป้าหมายก็เสียชีวิตไปแล้ว ยังคิดจะทำ R2R แผลเบาหวานที่เท้าหรือเปล่า ” ข้าพเจ้าตอบไปว่า “ถึงคนไข้จะเสียชีวิตไปแล้วและหน่วยงานเปลี่ยนเรื่องทำ R2R แล้ว แต่สำรับตัวเองคงต้องทำต่อไปเพื่อคนไข้รายอื่นๆ จะได้รับการดูแลที่ดี และหวังว่าน่าจะมีมาตรฐานสำหรับหน่วยงานของเราในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อคนไข้จะได้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ”